เตือนภัย รู้สักนิดก่อนคิดจะ “จำนอง” หรือ “ขายฝาก"
บทความโดย ศันสนีย์ อัศวเดชกำจร
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
หลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ปัญหาด้านการศึกษา ประชาชนขาดความรู้ในการวางแผนทางการเงิน ไม่มีวินัยทางการเงิน ทำให้ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ตลอดถึงปัญหาของประชาชนระดับรากหญ้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เนื่องจากติดขัดเรื่องขั้นตอนการขอสินเชื่อ ซึ่งมีข้อจำกัดยุ่งยากและล่าช้า จึงมุ่งไปใช้บริการธุรกิจเงินนอกระบบกันมากขึ้น
รูปแบบของธุรกิจเงินนอกระบบมีให้เลือกหลายรูปแบบ มักโฆษณาทั่วไปตามเสาไฟฟ้า หรือตามตู้โทรศัพท์สาธารณะ คนที่ขาดหลักประกันมักจะเลือกใช้บริการในรูปเงินด่วน ส่วนคนที่มีหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินหรือบ้าน ก็เลือกใช้บริการในรูปแบบจำนองหรือขายฝาก การที่มุ่งเน้นแต่เรื่องความสะดวก ขั้นตอนการกู้ไม่ยุ่งยากแถมได้เงินมาใช้รวดเร็วทันใจ จึงขาดความสนใจและคาดไม่ถึงว่า นายทุนธุรกิจเงินนอกระบบเหล่านี้อยู่ในชนชั้นสังคมที่เหนือกว่า มักอาศัยจุดอ่อนที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย หาช่องทางเอารัดเอาเปรียบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการปล่อยกู้ได้อย่างเลือดเย็นที่สุด
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะอย่างง่าย ๆ ให้แก่ผู้ที่มีที่ดินที่พร้อมจะใช้ไปเป็นหลักประกันการกู้เงิน ก่อนที่ท่านคิดจะนำที่ดินหรือบ้านไปกู้เงินจากธุรกิจเงินนอกระบบ ท่านควรจะเลือกแบบไหนดี ระหว่างการ “จำนอง” หรือ “ขายฝาก” เพราะทั้ง 2 แบบเป็นการทำนิติกรรมที่มีความใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ ทั้งจำนองและขายฝาก ต้องไปทำนิติกรรมจดจำนองหรือขายฝากที่สำนักงานที่ดินเหมือนกัน แตกต่างกันที่การบังคับหลักประกัน
ในทางกฎหมาย การจำนอง มีประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินหรือบ้านมากกว่าการขายฝาก เมื่อสัญญาจำนองครบกำหนดชำระหนี้ ผู้รับจำนองหรือเจ้าหนี้จะบังคับหลักประกันไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือบ้าน ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของตัวเองในทันทีไม่ได้ ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรก่อน (ปกติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน) หากครบกำหนดลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ผู้รับจำนองถึงจะฟ้องลูกหนี้ต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้นำเอาทรัพย์ที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้
สำหรับ การขายฝาก เมื่อมีการทำสัญญาขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากหรือเจ้าหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าลูกหนี้ต้องใช้สิทธิไถ่บ้านหรือที่ดินคืนภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญา (อสังหาริมทรัพย์ไถ่ทรัพย์คืนได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี และสังหาริมทรัพย์ไถ่ทรัพย์คืนภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี) การไถ่ทรัพย์ลูกหนี้ต้องนำสินไถ่ ได้แก่ เงินสด ส่งมอบแก่เจ้าหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไถ่ หากเกินกำหนดแม้แต่วันเดียว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งได้กลายเป็นของผู้ซื้อฝากหรือเจ้าหนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว จะตกเป็นของเจ้าหนี้อย่างเด็ดขาด ลูกหนี้จะหมดสิทธิไถ่ทรัพย์ทันที
การขายฝากจึงเป็นช่องทางให้กลุ่มนายทุนหรือเจ้าหนี้ธุรกิจเงินนอกระบบอาศัยความไม่รู้กฎหมายของลูกหนี้ หาวิธีการบ่ายเบี่ยงหรือหลบหน้าไม่ให้ลูกหนี้มีโอกาสไถ่ทรัพย์คืนภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อจะได้ฉวยโอกาสให้ลูกหนี้ไม่มีโอกาสได้มาไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากทรัพย์นั้นเป็นที่ดินหรือบ้านที่อยู่ในทำเลดี และมีมูลค่ามากกว่ายอดหนี้ที่ให้กู้
หากพบเจอนายทุนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ก่อนที่จะครบกำหนดไถ่ทรัพย์ตามที่ระบุในสัญญา ให้ลูกหนี้นำสัญญาพร้อมสินไถ่ไปวางทรัพย์ ณ สำนักงานบังคับคดีจังหวัด โดยเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 300-700 บาท (เมื่อเจ้าหนี้มารับเงิน จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนั้น และคืนเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่ลูกหนี้) เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว กรรมสิทธิ์ในบ้านหรือที่ดินจะตกเป็นของลูกหนี้ผู้ขายฝากทันที เนื่องจากพนักงานผู้รับการวางทรัพย์จะออกหลักฐานการวางทรัพย์ พร้อมติดต่อเจ้าหนี้ให้ไปรับเงินที่สำนักงานบังคับคดีและคืนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ลูกหนี้
จากนั้นให้ลูกหนี้นำหลักฐานการวางทรัพย์พร้อมหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปขอจดทะเบียนไถ่ถอนจากการขายฝากที่สำนักงานที่ดิน กรณีที่วางทรัพย์แล้ว แต่ยังไม่ได้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินคืน ให้ลูกหนี้นำหลักฐานการวางทรัพย์แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบโดยทันทีเพื่อลงบัญชีอายัดในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับของสำนักงานที่ดิน เป็นการป้องกันมิให้เจ้าหนี้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ต่อไป
ดังนั้น หากจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้บริการธุรกิจเงินกู้นอกระบบโดยมีที่ดินหรือบ้านเป็นหลักประกัน ก็ขอให้พิจารณาให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจกู้เงิน โดยเฉพาะการขายฝาก เพราะหากไม่สามารถชำระหนี้คืนภายในเวลาที่กำหนดไว้ อาจต้องสูญเสียที่ดินหรือบ้านไปแบบไม่รู้ตัวได้
กรณีมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียนทางการเงิน สามารถติดต่อได้ที่
1)ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ โทร 1359 หรือส่งจดหมายมาได้ที่ ตู้ ป.ณ. 1359 ปณจ.บางรัก กรุงเทพฯ 10500
2) ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สายด่วน ศคง. 1213 (สิบสองสิบสาม)
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ตไม่เกี่ยวข้องกับบทความใดๆ ทั้งสิ้น